อดีตคณบดีวิศวจุฬา

“อดีตคณบดีวิศวจุฬา ที่ผมได้เคยทำงานใกล้ชิด… ศ.พิเศษฯ, ศ.อรุณฯ, ศ.ชัยฯ”


โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)


หลายเหตุการณ์ในบทความนี้เกิดขึ้นย้อนหลังไปกว่า 50 ปี ทำให้รู้สึกเลือนและสับสนอยู่บ้างในตอนแรก ต้องสอบถามเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนเพื่อความมั่นใจในบางเรื่อง แม้กระทั่งการหารูปเก่าที่ชัดเจนของอาจารย์ทั้ง 3 ท่านก็ทำได้ยาก แต่ยังโชคดีที่สามารถค้นเจอ โดยเฉพาะจากหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ที่ระลึก 90 ปี วิศวฯ จุฬาฯ  9 รอบคุณพระเจริญฯ” ซึ่งรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับคณะวิศวจุฬาไว้ได้ดีมาก อยากให้หาอ่านด้วยเช่นกัน ต้องขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือดังกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วย บทความนี้ขอเป็นเพียงตัวต่อจิ๊กซอร์หนึ่งเท่านั้น ที่ผมโชคดีได้เคยมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน โดยจะเขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้สัมผัสโดยตรง และเพื่อให้บทความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นขออนุญาตนำตัวเลขช่วงเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีวิศวจุฬามาอ้างถึง พร้อมบางภาพ(ขาว-ดำ)ของอาจารย์จากหนังสือเล่มดังกล่าว มาใช้ประกอบกับภาพสีที่ผมมีอยู่เอง และเนื่องจากเหตุการณ์ได้ผ่านไปนานมากแล้ว หากมีประเด็นใดที่จำสับสนคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ต้องขออภัยไว้ด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ปัตตะพงศ์

ผมเข้าเรียนวิศวจุฬาเมื่อปี 2510 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ศาสตราจารย์พิเศษ ปัตตะพงศ์ (ต่อไปในบทความนี้ข้อเรียกว่า “อาจารย์” หรือ “อ.” และขอใช้คำว่า “วิศวจุฬา” สำหรับ “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”) เป็นคณบดี และหัวหน้าแผนกเครื่องกล (ยังไม่ได้เรียก “ภาควิชาวิศวกรรม…” อย่างในปัจจุบัน) ตอนนั้นไม่มีโอกาสเจอท่านนักยกเว้นช่วงเรียนด้วยในวิชา Air Conditioning ตอนปี 4 เมื่อเรียนจบผมได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำที่แผนกเครื่องกลนี้ทันที ในตำแหน่งอาจารย์ตรี เงินเดือน 1,250 บาท (สมัยนั้นยังใช้ระบบเป็นข้าราชการชั้นตรี โท เอก …) ขณะนั้นอาจารย์แผนกเครื่องกลยังขาดแคลน หลายคนยังเรียนต่ออยู่ที่ต่างประเทศ จึงมีชั่วโมงสอนมากและสอนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ถึง ปีที่ 4 ตอนนั้นผมเพิ่งอายุเพียง 20 ปี ในห้องจึงมีทั้งที่อายุน้อยกว่าและมากกว่า มีทั้งรุ่นน้อง รุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ที่เคยซ้ำชั้นมา สำหรับชั้นปีที่ 4 นั้นจะเป็นเพียงผู้ช่วยสอนในวิชา Air Conditioning ให้กับ อ.พิเศษ จึงได้มีความใกล้ชิดกับท่านมากขึ้น นอกเหนือจากการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา

ศาสตราจารย์พิเศษ ปัตตะพงศ์

อ.พิเศษเป็นคนที่พูดน้อย ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม เห็นอกเห็นใจลูกศิษย์ มีความเมตตากรุณา ยึดถือความถูกต้องเหมาะสม แต่เวลาท่านไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมก็ยากที่จะไปเปลี่ยนใจ

สมัยนั้นแผนกเครื่องกลมีผู้เลือกเรียนกันไม่มากนัก แบ่งเป็นเพียง 2 ห้อง อ.พิเศษจะสอนวิชา Air Conditioning ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน คือ 08:00-09:00น. และ 09:00-10:00น. โดยผู้ช่วยสอนจะนั่งอยู่ด้วยท้ายห้อง ผมดูแลห้องแรก ส่วนอีกห้องคือ อ.วิทยา ยงเจริญ (ขออนุญาตเอ่ยนาม ท่านก่อนผมหนึ่งรุ่น นั่งทำงานอยู่ห้องเดียวกันที่ตึก Lab เครื่องกลชั้น 4 และมีบุญคุณกับผมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ตอนนั้นผมสอนไปด้วยและเรียนต่อไปด้วย เดี๋ยวนี้ก็ยังเจอกับ อ.วิทยาและทานข้าวกันเป็นระยะ) มีอยู่วันหนึ่ง อ.พิเศษเข้าสอนได้ครึ่งทางก็เดินออกจากห้อง สั่งให้ผมสอนแทนในบทถัดไปโดยไม่บอกกล่าวไว้ก่อน เข้าใจว่าคงต้องการทดสอบว่ามีการเตรียมตัวมาหรือไม่ เป็นบทการคำนวณค่าฉนวนความร้อนผสมผสานในรูปแบบต่างๆ ผมได้เขียนบนกระดานแยกสีให้เห็นได้ชัด ง่ายต่อการเข้าใจ เมื่อหมดชั่วโมงในห้องยังจดไม่เสร็จกัน เลยปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ลบกระดาน เข้าใจว่าตอนท่านเข้ามาสอนอีกห้องในชั่วโมงถัดไปและเผอิญได้เห็น จึงรู้ว่าเราได้เตรียมการสอนมา อาจเป็นเพราะเหตุนี้ปีนั้นเลยได้ 2ขั้น และได้เลื่อนชั้นเป็นข้าราชการอาจารย์โท ซาบซึ้งในความกรุณาของท่านมาก

ในความเชื่อส่วนตัว (จะถูกหรือผิดก็ตาม) ผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินอนาคตคนด้วยวิชาเดียว และเพียง 3 ชั่วโมงในห้องสอบเท่านั้น จากที่ผมสอนหนังสือมา เช่น ที่วิศวจุฬา บัญชีธรรมศาสตร์ และในต่างประเทศ เช่น แผนกเครื่องกล มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ ผมแทบไม่เคยเอาเด็กตกถ้าเข้าเรียนสม่ำเสมอ ส่งงานครบ (แต่จะให้งานเยอะ) สมัยนั้นเป็นช่วงรอยต่อระหว่างเรียนเป็นคะแนน (ไม่ต่ำกว่า 60% จึงผ่าน) กับระบบใหม่เรียนเป็นหน่วยกิต สำหรับวิชา Air Conditioning ของ อ.พิเศษนั้น เป็นของชั้นปีที่ 4 ยังใช้ระบบเก่าอยู่ ตอนสอบมีบางคนที่คะแนนยังห่างเกณฑ์มากต้องสอบซ่อม (re-exam) ผลการสอบซ่อมก็มีผู้ที่ยังเฉียดฉิวต่ำกว่าเกณฑ์ผ่านไปเล็กน้อย ทั้งที่ประวัติการเรียนก็ตั้งใจดี แต่จะช่วยโดยไร้หลักเกณฑ์เลยก็ไม่เหมาะและอธิบายยาก จึงได้ขออนุญาต อ.พิเศษ ใช้วิธีให้ทำรายงานมาส่งเป็นคะแนนเสริมเล็กน้อย (แทนที่จะบวกปัดคะแนนขึ้นไปให้เลย ซึ่งก็มีใช้ปฏิบัติกันอยู่) เช่น เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศรถยนต์ ฯลฯ ท่านกรุณามาก บางคนที่จบตอนนั้นได้ออกไปประกอบวิชาชีพทางด้านระบบปรับอากาศเจริญรุ่งเรือง

อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจที่ท่านมีกับเหล่าลูกศิษย์ จากที่ได้เกริ่นไว้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงรอยต่อของสองระบบ อาจารย์บางท่านก็ยังยึดติดกับระบบเก่า คือต่ำกว่า 60% ตก มีครั้งหนึ่งในวิชา Strength of Materials ผู้ที่ได้ต่ำกว่า 60% โดน F ทุกคน รวมแล้วประมาณ 40 คน ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้คงมีการเดินขบวน อ.พิเศษได้เรียกประชุม อธิบายหลักการที่ควรเป็น ผมยังจำได้ที่ท่านได้ให้ตัวเลขมาว่า ค่าเฉลี่ยในแต่ละวิชาน้อยสุดไม่ควรต่ำกว่า 2.3

ระหว่างเป็นอาจารย์ผมเรียนปริญญาโทที่คณะวิศวจุฬาไปด้วย (ตามที่ได้เกริ่นไว้เล็กน้อยในตอนต้น) ตอนแรกว่าจะเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ซึ่งตั้งอยู่ที่คณะ(ด้านคณะรัฐศาสตร์ ติดถนนอังรีดูนังต์) แต่ตอนนั้นเอไอทีกำลังจะย้ายไปอยู่ที่รังสิต(ที่ตั้งปัจจุบัน) ซึ่งไม่สะดวกเพราะต้องทำงานทางนี้ จึงเรียนต่อที่นี่ ช่วงปริญญาโทนี้ใช้ระบบการเรียนเป็นหน่วยกิต นอกจากวิชาเรียนแล้วยังต้องทำวิทยานิพนธ์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในสมัยนั้นมีการพิจารณาให้เกรดในงานส่วนนี้ด้วย อ.พิเศษเป็นประธานการสอบ ผลการสอบคณะกรรมการให้ A ซึ่งมีผลต่อการไปเรียนต่อและหามหาวิทยาลัยเรียนของผมมาก คือมหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับ Top 5 ทางสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ของสหรัฐอเมริกาอยู่ขณะนั้น ได้รับเข้าเรียนปริญญาเอกเลยโดยไม่ต้องทำปริญญาโทใหม่ แต่ก็หนักมาก เท่าที่ทราบก่อนหน้านั้นยังไม่มีคนไทยจบปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมเคยได้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์สอน(ไม่ใช่ผู้ช่วยสอน)ที่นี่ด้วย เช่นวิชา Mechanical Engineering Design รวมถึงได้สอนถ่ายทอดสดแบบถามตอบกันได้ ซึ่งค่อนข้างใหม่ในยุคนั้น ไปยังบริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆในรัฐมิชิแกน [วารสารอินทาเนีย ฉบับที่127 (1/2564) ม.ค.-มี.ค.2564 หน้า 41-46] ทั้งนี้ก็เริ่มจากความกรุณาต่างๆของ อ.พิเศษ ที่มีต่อลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ได้มีส่วนช่วยกรุยทางให้แต่ต้น รวมถึงหนังสือ Recommendation ตอนสมัครเรียน

การไปเรียนต่อครั้งนั้นผมสอบได้ทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) ตอนไปสมัครสอบต้องได้รับความยินยอมจากต้นสังกัดเพราะอาจไม่ได้กลับมาทำงานที่เดิม ขณะนั้นผมยังติดเงื่อนไขที่ต้องทำงานใช้ 3 ปี มิฉนั้นต้องจ่ายเพิ่มปีละ 5,000 บาทระหว่างเรียน (แพทย์ ปีละ 10,000 บาท) ผมเป็นรุ่นแรกที่เจอกติกานี้ แต่ใช้อยู่ไม่นานก็ยกเลิกสำหรับด้านวิศวะ ทราบมาว่าเพราะไม่มีตำแหน่งราชการเพียงพอรองรับทั่วประเทศที่จบออกมาในแต่ละปี ผมไปขอ อ.พิเศษเพื่อไปสอบชิงทุน ท่านก็ลงนามอนุญาตในใบสมัครให้ เมื่อสอบได้ทุนผมต้องกลับมาทำงานใช้ที่การรถไฟฯ ตามเงื่อนไข ท่านก็อนุมัติให้ผมโอนย้ายก่อนเดินทางไปเรียน เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ จากที่ใหม่ เช่น อายุงาน ฯลฯ

นอกจากเป็นนักบริหารแล้ว ท่านยังเป็นนักกีฬา เคยดูท่านลงแข่งแบดมินตันชายเดี่ยวของสภาคณาจารย์ จัดที่ศาลาพระเกี้ยว โดยพบกับอาจารย์รุ่นหนุ่มกว่ามากที่ก็เล่นแบดมินตันได้ดี แต่ท่านชำนาญกว่า เช่นการโยก และตบหลอกทิศทาง สมกับเป็นตระกูล “ปัตตะพงศ์” ที่มีชื่อเสียงเรื่องแบดมินตันในสมัยนั้น

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เมื่ออยู่ใกล้ชิดท่านจึงรู้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณาสูง และมีน้ำใจนักกีฬา ต่างกับภาพภายนอกที่บางคนอาจมองว่าท่านดุหรือหินมาก คุยด้วยยาก

ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์

ตอนผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 (ปี 2513) ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ เป็นคณบดี มีเหตุการณ์สำคัญเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในจุฬา นั่นก็คือนิสิตคณะวิศวะได้ถอนตัวลาออกจากสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) ด้วยเหตุขัดแย้งตกลงกันไม่ได้ในบางเรื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพพจน์โดยรวมของมหาวิทยาลัย เป็นหน้าที่และความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ไม่สามารถปล่อยให้เนิ่นนานออกไปมากได้ วันหนึ่งมีนัดประชุมของนิสิตวิศวะชั้นปีที่ 4 ที่เรียกว่า “ประชุมซีเนียร์” ซึ่งผมก็เข้าร่วมประชุมด้วย ได้รับแจ้งว่าท่านคณบดีจะเข้ามาคุยกับพวกเรา เมื่อท่านมาถึงก็ได้ขึ้นพูดบนเวทีหน้าห้องซึ่งปกติใช้เป็นชั้นเรียน (น่าจะเป็นที่ตึก1 ชั้น3 ห้อง1301) ท่านมีจิตวิทยาสูง พูดทั้งปลอบทั้งขู่ จำพอสรุปได้ว่าที่ผ่านมาท่านได้สนับสนุนกิจกรรมของพวกเราโดยตลอด และตั้งใจที่จะทำต่อไป ขอให้พวกเรากลับเข้าสู่ สจม.ดังเดิม ถ้าไม่กลับท่านก็ไม่สามารถที่จะสนับสนุนได้ และก็จะไม่ส่งเสริมกิจกรรมของพวกเราอีกต่อไป เลิกกัน จากนั้นท่านก็ออกจากห้องประชุมซีเนียร์ไป ปล่อยให้ประชุมกันเองต่อ ซึ่งใช้เวลาอีกไม่นานก็ได้ข้อสรุปเป็นมติว่า ยอมกลับเข้าสู่ สจม.ดังเดิม

ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์
ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์  คณบดีวิศวจุฬา (2513-2515); ถ่ายภาพกับผู้แทนบริติชเคานซิลประจำประเทศไทย; และภาพคณะกรรมการสมาคมนักเรียนทุนบริติชเคานซิล ประเทศไทย จัดเตรียมเค้กวันเกิดเป็นการส่วนตัวให้ท่านในวันประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ที่โรงแรมรามาดา สุรวงศ์ ซึ่งท่านเป็นนายกสมาคม ส่วนผม(ยืนกลาง)เป็นเลขาธิการสมาคมฯ อยู่ขณะนั้น (พ.ศ. 2527-2530)

อ.อรุณ แม้จะเป็นคณบดีที่วิศวจุฬาอยู่เพียง 2 ปีเท่านั้น แต่ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งสมัยท่านที่ยังคงปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็คือ การเปลี่ยนระบบวัดผลจากรูปแบบคะแนน ที่ต่ำกว่า 60% ถือว่าสอบตก มาเป็นหน่วยกิตและการให้เกรด A, B, C … ซึ่งจุดเปลี่ยนนี้อยู่ในช่วงเวลาที่ผมเป็นอาจารย์สอนที่คณะพอดี จึงได้ใช้ทั้งสองระบบในเวลาเดียวกัน คือสำหรับรุ่นที่ใช้เป็นคะแนนอยู่แล้วก็ใช้ต่อไป รุ่นใหม่ที่เข้ามาก็ใช้ระบบใหม่ด้วยการให้เป็นเกรด (ขออนุญาตไม่ลงในรายละเอียดปลีกย่อย)

ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2516 โดยเป็นอยู่ถึง 4 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมายที่โยงกับสถานศึกษา

ผมได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับท่านหลังจากนั้นนานมาก คือราว 15 ปีให้หลัง ที่สมาคมนักเรียนทุนบริติชเคานซิลประเทศไทย ขออนุญาตเล่าเบื้องหลังที่มาเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น คือตอนนั้นผมทำงานใช้ทุนอยู่ที่การรถไฟฯ ปัญหาความไม่เข้าใจกันด้านงานช่างและงานบัญชีมีแยะ ผมจึงไปสอบเข้าที่บัญชีธรรมศาสตร์เรียนปริญญาโท MBA ภาคค่ำหลังเลิกงานจนใกล้จะจบ (ตอนนั้นจบปริญญาเอกทางเครื่องกลมาก่อนแล้ว) พอดีมีทุนรัฐบาลอังกฤษ เรียกว่าทุนบริติชเคานซิล ภายใต้แผนโคลัมโบ วนผ่านมาให้กับประเทศไทย 1ทุน [วารสารอินทาเนีย ฉบับที่129 (3/2564) ก.ค.-ก.ย.2564 หน้า 48-52] โดยเปิดให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจส่งคนไปสอบแข่งขัน จัดสอบโดยกรมวิเทศสหการ การรถไฟฯ ส่งผมไปสอบ ผมจึงได้มีโอกาสไปเรียน MBA ที่อังกฤษ ณ มหาวิทยาลัย Leeds ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรนี้ โดยผมทำวิทยานิพนธ์เน้นทางด้านบัญชีต้นทุนและการเงิน อ.อรุณเองท่านก็เคยเป็นนักเรียนทุนนี้ตอนไปเรียนที่อังกฤษ จึงได้มีโอกาสทำงานกับท่านหลายปีที่สมาคมนักเรียนทุนบริติชเคานซิลประเทศไทย โดยท่านเป็นนายกสมาคม ส่วนผมเป็นเลขาธิการสมาคม (พ.ศ. 2527-2530)

อยู่ใกล้ท่านก็ได้ความรู้ดี ได้เรียนรู้ศิลปะการทำงานและสั่งงาน ท่านจะแนะนำแนวทางด้วยความนุ่มนวลสุภาพแต่ค่อนข้างเด็ดขาด ส่วนผมลงแรง มีการจัดกิจกรรมกันเป็นระยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวโดยรถไฟที่ผมทำงานอยู่ตอนนั้น เช่นจัดพาสมาชิกไปเที่ยวราชบุรีดูหินงอกหินย้อยในถ้ำ บ่อยครั้งที่ต้องประสานงานกับเอกอัครราชทูตอังกฤษและผู้แทนบริติชเคานซิลประจำประเทศไทย นับว่าเป็นโชคดีของผมอย่างมากที่ได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานกับท่าน

ศาสตราจารย์ชัย มุกตพันธุ์

ผมเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวจุฬา เมื่อต้นปี 2514 ในช่วงที่ อ.อรุณเป็นคณบดี ส่วน อ.พิเศษปรับเปลี่ยนมาเป็นเฉพาะหัวหน้าแผนกเครื่องกล เมื่อ อ.อรุณพ้นจากตำแหน่งคณบดีได้ระยะหนึ่งไม่นานก็ขยับขึ้นไปเป็นอธิการบดี  อ.ชัยมารับตำแหน่งต่อ(ตุลาคม 2515 ถึง มกราคม 2517) ถือว่าโชคดีที่ได้ทันมีโอกาสเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน ผมไปเรียนต่อตอนที่ท่านยังไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่ได้มีโอกาสทำตามในเรื่องของการเรียนต่อนี้ คือไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ ที่ท่านจบมา โดยท่านไปทำปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมโยธา ส่วนผมไปทำปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล

ศาสตราจารย์ชัย มุกตพันธุ์
ศาสตราจารย์ชัย มุกตพันธุ์ คณบดีวิศวฯ จุฬาฯ ตุลาคม 2515-มกราคม 2517

หลังจากจบกลับมาแล้วก็ยังจัดว่าได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านอีก ไม่ใช่ที่วิศวจุฬา แต่เป็นที่ราชบัณฑิตยสถาน ท่านเป็นเลขาธิการ ส่วนผมเป็นภาคีราชบัณฑิต [วารสารอินทาเนีย ฉบับที่128 (2/2564) เม.ย.-มิ.ย.2564 หน้า 43-46]

ตอนท่านเริ่มเข้ารับตำแหน่งคณบดีมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่คณะ เกิดการสไตรค์ไม่เข้าสอนของอาจารย์บางส่วน เหตุจากการขัดแย้งในความเห็นระหว่างกรรมการคณะรวมถึงอาจารย์อาวุโสสูงหลายท่าน กับทางอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่น่าจะจัดได้ว่าอาวุโสปานกลาง ส่วนผมเป็นอาจารย์ใหม่ปีแรกจึงไม่ได้มีโอกาสเกี่ยวข้องนัก (ผมจะขอเล่าจากความทรงจำและจากที่สอบถามเพื่อนบางคนเพิ่มเติม หากผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้างก็โดยมิได้มีเจตนา และต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ ด้วยความเคารพทุกฝ่าย) มีนิสิตคนหนึ่ง ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เป็นผู้ที่สุภาพเรียบร้อยชอบทำกิจกรรม เคยเป็นประธานหลายชมรมของจุฬาฯ ต้องเรียนซ้ำในชั้นปีที่ 3 (ปี3 ครั้งที่ 2 ) อยู่ขณะนั้น และสอบไม่ผ่านในวิชา Thermodynamics ต้องสอบซ่อม ถ้าซ่อมผ่านก็ได้ขึ้นชั้นปีที่ 4 และได้เป็นนายก สจม.ด้วย เพราะชนะการเลือกตั้งภายในจุฬาฯมาแล้ว ถ้าไม่ผ่านก็ต้องตกออกเนื่องจากกำลังซ้ำชั้นอยู่ ทราบว่าตอนเรียนปี 3 ครั้งที่ 1 เคยสอบวิชานี้ผ่านแล้ว คือได้ไม่ต่ำกว่า 60% แต่เผอิญคะแนนไม่ถึง 70% จึงต้องกลับมาเรียนซ้ำใหม่ตามกฎเกณฑ์สมัยนั้น ซึ่งต่างกับระบบหน่วยกิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ผ่านแล้วผ่านเลย การสอบซ่อมต้องชะลอไปเป็นแรมเดือนเพราะได้รับทุน (น่าจะในฐานะว่าที่นายก สจม.) ไปดูงานต่างประเทศ ทราบมาว่าเป็นที่สหรัฐอเมริกา โดยได้รับอนุญาตจากทางคณะเป็นกรณีพิเศษ จึงกลับมาสอบซ่อมช้า เปิดเทอมไประยะหนึ่งแล้ว ผลการสอบออกมาว่าไม่ผ่าน แต่ทางกรรมการคณะพิจารณาไม่เห็นชอบตามเสนอด้วยเหตุผลรองรับหลายประการ แล้วเปลี่ยนเป็นให้ผ่าน จึงมีประเด็นขัดแย้งกันเกิดขึ้นในลักษณะไปก้าวก่ายสิทธิและอำนาจของอาจารย์เจ้าของวิชาหรือไม่ จนถึงขั้นที่อาจารย์ส่วนหนึ่งสไตรค์ไม่เข้าสอน

เหตุการณ์คาบเกี่ยวล่วงเลยมาจนถึงช่วงที่ อ.ชัยเริ่มเข้ารับตำแหน่งคณบดี และมีทีท่าจะบานปลาย บางคนก็ว่าเพราะมีประเด็นการเมืองภายในคณะแทรกอยู่ แต่ผมไม่สามารถยืนยัน ในที่สุด อ.ชัยต้องนัดกึ่งคุยหารือกึ่งประชุมกับอาจารย์ที่มีทั้งสองแนวคิดที่ต่างกันนี้ ในร้านอาหารที่สยามสแควร์ ผมจำชื่อร้านไม่ได้ ท้ายสุดสรุปว่าต้องยอมให้ตก ซึ่งก็หมายถึงต้องออก และทางมหาวิทยาลัยต้องเลือกตั้งนายก สจม.ใหม่ด้วย ผมเคารพแนวคิดของแต่ละท่าน เพียงแต่ผลไม่เป็นไปตามความเชื่อของผมที่เกริ่นแต่ต้นว่า “ในความเชื่อส่วนตัว (จะถูกหรือผิดก็ตาม) ผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินอนาคตคนด้วยวิชาเดียว และเพียง 3 ชั่วโมงในห้องสอบเท่านั้น”

อ.ชัย เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ เป็นสุภาพบุรุษ มีความเมตตากรุณาสูงต่อลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านจะพูดช้าๆนุ่มนวล เสียงไม่ดังแต่เหมือนมีอำนาจแฝงอยู่ ยังจำน้ำเสียงท่านได้ ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านแต่ไม่เคยเรียนด้วย เพราะท่านสอนโยธา ส่วนผมเรียนเครื่องกล อย่างไรก็ตามผมไม่เคยได้ยินเพื่อนหรือคนรู้จักพูดถึงท่านในทางที่ไม่ดีเลย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save