อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 4


โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)


อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 4

เมื่อถึงจุดหนึ่งผมตัดสินใจลาออกจากการรถไฟฯ มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในโลกภายนอก โดยไม่เคยเอ่ยปากว่าจะออกมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว แม่เคยสอนไว้ว่า ในใจจะอย่างไรก็ตาม เวลาจากที่ไหน ให้จากด้วยดี เพราะวันหนึ่งอาจต้องโคจรมาเจอกันอีกก็เป็นได้ ผมจึงใช้เหตุผลโดยวาจาว่า ผมกลับมาเริ่มทำงานจริงที่การรถไฟฯ วันที่สิบเอ็ดเดือนสิบเอ็ดปีสองเอ็ด (จำง่าย)” ผมขอลาออก วันที่สิบเอ็ดเดือนสิบเอ็ดปีสามเอ็ด รวม 10 เต็มวันชนวันพอดี (แต่อายุงานจริงมากกว่านั้น เพราะได้สิทธินับอายุงานตั้งแต่ไป) และเนื่องจากได้ทุนทางโน้นด้วย (ดังกล่าวมาแล้ว) ไม่ได้ใช้เงินทางนี้มาก บำเหน็จที่จะได้รับตอนออกจึงหักลบกลบล้างกับหนี้ทุนที่ต้องชดใช้ได้ประมาณพอดีกัน

ขอเล่าสักนิดเรื่องคิดคำนวณการใช้หนี้ เพื่อเป็นกรณีศึกษาวิเคราะห์กัน คือหลังจากนำเวลาและเงินมาคิดเทียบบัญญัติไตรยางค์ตามเงื่อนไขสัญญาได้จำนวนเงินที่ควรจะเป็นแล้ว รถไฟได้เอา 20 ไปหาร และ 26 ไปคูณ เป็นจำนวนท้ายสุดที่คิดกับผม ด้วยเหตุผลว่า ช่วงวันที่ไป 1 US$ เท่ากับ 20 บาท แต่วันที่ออกเท่ากับ 26 บาท ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงถามผู้เกี่ยวข้องว่า ถ้าตรงกันข้าม ช่วงวันที่ไปเท่ากับ 26 บาท แต่วันที่ออกเท่ากับ 20 บาท จะเอา 26 ไปหาร และ 20 ไปคูณไหม (เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติที่คงเส้นคงวาต่อไปในอนาคต เนื่องจากการหารแล้วคูณดังกล่าวนี้ไม่ได้มีระบุในสัญญา) คำตอบคือ ไม่ ภายหลังผมได้เล่าให้ผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งฟัง ท่านบอกว่าน่าจะฟ้องร้องสู้หลังจากออกมาแล้วก็ได้ ผมเรียนท่านว่า ถ้าทำ ผมต้องฟ้องที่การรถไฟฯ แล้วไล่เบี้ยลงมา จะฟ้องตรงไม่ได้ แต่การรถไฟฯ มีบุญคุณกับผม จึงไม่คิดจะทำเช่นนั้น ได้รับคำชมจากท่านว่า ดีมากถ้าด้วยเหตุผลนี้

ผมออกไปผจญภัยหาสิ่งที่สนใจในโลกภายนอกอยู่ราวปีครึ่ง ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติในธุรกิจเอกชน ผมคงมีดวงเดินทางต่างประเทศติดตัวมาด้วย เพราะไปอยู่ที่ไหนก็มักต้องเดินทาง วันหนึ่งราวกลางปี พ.ศ. 2532 ต้องไปดูช่องทางการลงทุนที่พม่า แต่แล้วผมก็ไม่เคยได้กลับจากประเทศพม่าอีกเลย…(ผมเขียนไม่ผิด… และท่านก็อ่านไม่ผิด…) เพราะในช่วงวันที่อยู่ที่นั่น เขาเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมาพอดี เลยต้องกลับจากประเทศเมียนมาแทน…

ภาพธนบัตรพม่าในช่วงปี พ.ศ. 2532 ชนิดใบละ 90 และ 45 จ๊าด [ภาพเพื่อการศึกษา, จาก Google Images]
ขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน US$ และเงินจ๊าด (Kyat) เป็นทางการ และในตลาดมืดห่างกันถึง 7 เท่า คือ 6 และ 42 จ๊าด ตามลำดับ ต่อ 1 US$ ตอนนั้นมีการยกเลิกธนบัตรรุ่นเก่า และเพื่อกันสับสนใช้ผิด ไม่ต้องให้คอยสังเกตว่าจะเป็นรุ่นเก่าหรือใหม่ เขาจึงยกเลิกการใช้ใบละ 100 และ 50 จ๊าด แล้วออกธนบัตรเป็นใบละ 90 และ 45 จ๊าดแทน (ดูภาพประกอบ) สมมุติต้องจ่ายเงิน 12,345 จ๊าด จะจ่ายอะไรอย่างละกี่ใบ ได้เงินทอนเท่าใด ลองคิดดูสนุก ๆ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ได้พบเจอเรียนรู้จากการเดินทางและท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เมียนมายังเป็นประเทศที่ผมชอบไปเที่ยว มีต้นไม้ใหญ่หนาแน่นชุ่มฉ่ำ ลำธารห้วยหนองคลองบึงน้ำใส ดูสดชื่นสวยงาม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนดินและใต้ดิน ผมเคยนั่งเฮลิคอปเตอร์ของทางการเมียนมาดูแนววางท่อก๊าซในเขตทวาย มองไปไกล ๆ ที่แนวป่าเขาดูเขียวขจี แต่มีแถบสีขาวยืนทอดตัวในแนวดิ่งคั่นเป็นระยะ เมื่อขอให้เฮลิคอปเตอร์ช่วยบินเข้าไปใกล้ขึ้นจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นน้ำตกสูงใหญ่เรียงรายอยู่จำนวนนมากตลอดแนวเทือกเขา ทราบว่ายังเดินทางท่องเที่ยวเข้าไปดูทางบกได้ยาก

ภาพลักษณะพื้นที่แถวนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยทั่วไปก่อนปรับผิว และภาพโรงงานปิโตรเคมีที่สร้างเสร็จแล้ว [ภาพเพื่อการศึกษา, จาก Google Images]
หลังจากนั้นผมจึงตัดสินใจไปทำงานทางด้านปิโตรเคมี ที่รู้สึกว่าท้าทายดี เพราะกำลังเริ่มมีการบุกเบิกกันที่มาบตาพุด ระยอง พื้นที่ยังค่อนข้างโล่ง มีปลูกหญ้าและเลี้ยงวัวกันอยู่บ้าง ได้เข้าไปเรียนรู้ตั้งแต่เริ่ม Basic Concept, Engineering Design, Detail Design, Construction, Commissioning (ขอใช้ทับศัพท์) และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องไปอยู่ทำงานประสาน และติดตามงานนี้ในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตุรกี เกาหลีใต้ ฯลฯ บางแห่งครั้งละหลาย ๆ เดือน และหลาย ๆ ครั้ง

อย่างที่กล่าวแต่ต้นว่า เวลาไปไหนมักใช้ที่พักเพียงแค่อาบน้ำและนอน เมื่อมีวันหยุดหรือนอกเวลางานที่ไม่มีภาระรับผิดชอบในช่วงนั้นแล้วก็จะออกท่องเที่ยวเรียนรู้หาประสบการณ์ไปเรื่อย ผมไม่ชอบทานอาหารในโรงแรมเพราะแพง และที่ไหนก็เกือบจะเหมือน ๆ กัน จะไปเดินหาทานแบบที่ชาวบ้าน ๆ เขาไปทานกัน เช่น ตามแผงค้าต่าง ๆ ได้รสชาติดั้งเดิม และสัมผัสวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ มากกว่า

ในช่วงเวลาที่ทำงานปิโตรเคมีผมต้องเดินทางไปอังกฤษบ่อยมาก บางช่วงแทบจะเดือนเว้นเดือน (ดังกล่าวมาแล้ว) เพราะมีงานร่วมกับทางปิโตรเคมี ICI ของอังกฤษ ก็จะใช้เวลาว่างนอกเวลางานและวันหยุดออกเที่ยวเพิ่มเติม (จากที่เคยเที่ยวสมัยไปเรียนแล้ว) สมัยนั้นยังเล่นกอล์ฟอยู่ ได้มีโอกาสไปตีกอล์ฟหลายแห่ง เช่น ที่สนามกอล์ฟ St Andrews-Old Course หลายครั้ง บางครั้งก็ลากถุงกอล์ฟเอง บางครั้งก็มีแคดดี้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมเอาเอกสาร Golf Handicap เป็นทางการของเราติดตัวไปด้วย ทางสนามเข้มงวดเรื่องนี้มาก เห็นฝรั่งก๊วนก่อนผมบอกว่าลืมอยู่ในรถ เขาให้เดินกลับไปเอามาแสดง บางครั้งผมก็หาโอกาสไปเที่ยวตามเมืองที่ปรากฏในเพลงที่ชอบ เช่น เมืองชนบทที่ชื่อ Scarborough (เมืองชายฝั่งทะเล ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Leeds) ในเพลงพื้นบ้าน Scarborough Fair โดย Simon & Garfunkel

มีโอกาสได้เล่นกอล์ฟที่สนาม St. Andrews – Old Course ใน Scotland หลายครั้ง บางครั้งก็ใช้แคดดี้ ถ้าไม่มีก็ลากหรือแบกถุงเอง สนามลมแรง เคยใช้บวก/ลบถึง 2 เหล็ก หลุมทรายค่อนข้างลึกและแคบ เรียก Pot Bunker แคดดี้ (คนสวมหมวกขาว) บอกว่าเขาเคยถือให้นักกอล์ฟอาชีพของไทย บุญชู เรืองกิจ (ขออนุญาตเอ่ยนาม) และชมว่าเล่นได้ดีมากในรอบคัดเลือก อีกคนในภาพที่ไม่สวมหมวกเป็นเพื่อนร่วมก๊วนชาวสก็อต

จากประสบการณ์เดินทาง ผมจะเตือนคนใกล้ชิดเสมอว่า อย่ารับฝากหรือถือของให้ใครที่สนามบิน ไม่แชร์น้ำหนักที่เหลือให้ใครที่มาขอฝากชั่งรวมด้วยเพราะเขาน้ำหนักเกิน เหมือนคนใจจืดใจดำ แต่ดีกว่าเกิดเหตุแล้วมาเสียใจภายหลัง เนื่องจากของเหล่านั้นจะปรากฏในชื่อของเราหากมีสิ่งผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ถ้าทำโดยเจตนาแล้วก็ยากที่เราจะตรวจพบเอง ที่ผมเจอขอฝากบ่อยคือสายการบินต้นทุนต่ำ ค่าโดยสารถูกต้องซื้อน้ำหนักเพิ่มแยกต่างหาก ผมจะซื้อเผื่อไว้เป็นประจำหากคิดว่าจะมีของกลับเพิ่ม และก็จะเจอเป็นประจำเช่นกันที่มีคนมาขอฝากแชร์เพราะเห็นเรายังมีน้ำหนักเหลือ ผมก็จะบอกว่าผมสั่งหลานไว้ไม่ให้รับฝากของใคร (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง) อย่าให้ผมต้องทำเสียเองเลย กะว่าถ้าตื๊อมาก ๆ และเป็นคนที่เราเกรงใจก็จะบอกว่า ของคุณที่เกินเดี๋ยวผมจ่ายให้เอง ซื้อความสบายใจ (แต่ก็ยังไม่เคยเจอกรณีหลังนี้) อีกอย่างหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำเนื่องจากเดินทางบ่อยก็คือ ถ่ายรูปกระเป๋าของเราขณะวางอยู่บนเครื่องชั่งตอน Check-in ให้ติดเจ้าหน้าที่สายการบินด้วย ใช้ยืนยันได้หลายอย่าง รวมทั้งในการอธิบายหน้าตารูปลักษณ์กระเป๋าหากไม่มาหรือชำรุดเสียหาย ซึ่งเคยประสบมาแล้วและใช้ได้ผลจริง ๆ

ภาพตอนโหลดกระเป๋าเดินทางช่วงเช็คอินสายการบิน ควรถ่ายไว้เป็นประจำ ให้ติดพนักงานที่เกี่ยวข้องด้วย (ในภาพตัดส่วนใบหน้าออกเพื่อความเหมาะสม) ช่วยลดความยุ่งยากปลายทางได้มาก เช่นกรณีกระเป๋าไม่มา หรือแม้แต่ในเรื่องทางกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจมีเกิดขึ้น

มีครั้งหนึ่งที่เดินทางไปอังกฤษ พอออกจากสนามบิน Heathrow ก็ขึ้นแท็กซี่ที่วิ่งมาจอดรับ พอก้าวขาขึ้นรถได้ขาหนึ่งก็มีชาย 3 คน เดินตรงเข้ามา คนหนึ่งมาที่ผม อีกคนไปที่คนขับ คนที่ 3 ไปคุมเชิงอยู่หน้ารถ พอแสดงตัวพร้อมบัตร (อย่างกับในหนังที่เคยดู) จึงรู้ว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ ก็งงอยู่ว่าเราทำผิดหรือต้องสงสัยอะไร เขารีบบอกก่อนว่าไม่ต้องกังวล เขาจับคนขับแท็กซี่ที่เอาเปรียบคันอื่น ไม่ยอมไปเข้าคิว ส่วนเราไม่ผิดเพียงเพิ่งเดินทางมาถึงพอออกมาก็มีรถแท็กซี่มาจอดเทียบเองจึงขึ้นโดยไม่ได้โบกเรียก คนขับแท็กซี่รีบแก้ตัวกับตำรวจว่า เรานัดหมายให้มารับ (ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าไม่ผิด) จริง ๆ ก็สงสารคนขับที่ดูจะอายุมากแล้วด้วย แต่ถ้าเออออไปหากตำรวจซักว่านัดอย่างไร เมื่อใด ที่ไหน ฯลฯ ก็ตอบไม่ได้ทั้งนั้น จึงปฏิเสธไป ตำรวจหันมาขอดูพาสปอร์ตก็ยื่นให้พร้อมเปิดหน้าวีซ่าให้ดู เขาบอกอย่างสุภาพมากว่า ขอแค่เลขที่หนังสือเดินทางเท่านั้น เผื่อขึ้นศาลแล้วคนขับปฏิเสธจะขอให้ช่วยไปเป็นพยานด้วย จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญเรื่องเช่นนี้มาก ถึงขนาดต้องขึ้นศาลเลย ตอนที่ตำรวจเปิดเป้เพื่อหยิบสมุดจด เห็นในนั้นมีอุปกรณ์เพียบ เช่น กุญแจมือ วิทยุสื่อสาร ฯลฯ วันกลับยังหวั่นว่าจะโดนขอให้อยู่ต่อไปเป็นพยานที่ศาลหรือเปล่า แต่ก็เรียบร้อยดี มีอีกหลายประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการเดินทาง ที่น่านำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังเป็นประโยชน์ แต่ขอไว้โอกาสอันควรอื่นบ้างก็แล้วกัน

ถึงแม้จะได้ไปทำงานตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น นิวยอร์ก ปารีส ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ และได้มีโอกาสเที่ยวชมเมือง ศึกษารูปแบบการเจรจากับคนแต่ละชาติแต่ละวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ประสบการณ์หลากหลายก็ตาม แต่หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเองเป็นส่วนตัวไม่ใช่ในงานแล้ว ผมชอบไปตามเมืองหรือพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ไปยาก ความเจริญยังไม่เข้าไปทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนไปนัก เช่น สิกขิม (ซึ่งตอนนี้เป็นรัฐของอินเดีย), Kailash หรือเขาไกรลาสในทิเบต (ตามที่เราเคยเรียนหรือได้ยินมาถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตแห่งเทพหลายองค์ เช่น พระศิวะ ไม่อนุญาตให้ปีนขึ้น ตีนเขาอยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 5,000 เมตร หรือประมาณ 2 เท่าของดอยอินทนนท์ อากาศเบาบางมาก เหลือให้หายใจแค่ราวครึ่งเดียวของบ้านเรา) มองโกเลีย ไซบีเรียและรถไฟสายนี้ เขาหวงซานของจีน (ที่เมื่ออยู่บนยอดเขาจะมองเห็นเมฆหนาทึบลอยอยู่ต่ำกว่าเรา มียอดเขาแหลมต่าง ๆ แทงทะลุเมฆขึ้นมาคล้ายเราอยู่บนสวรรค์) เคยได้ไปล่องเรือในแม่น้ำแยงซีจากเซี่ยงไฮ้เข้าไปถึงมณฑลเสฉวนกลางประเทศจีนสมัยที่ยังงไม่มีเขื่อนสามผากั้นขวาง สวยประทับใจมาก ผมนอนค้างในเรือหลายวัน ความรู้สึกต่างจากเมื่อไปล่องเรือตอนมีเขื่อนแล้วที่ของสำคัญเดิมบางอย่างหายไป เข้าใจว่าคงได้รับการอนุรักษ์ย้ายไปอยู่ที่อื่นมากกว่าจมอยู่ใต้น้ำ เช่น ศิลาจารึกแผ่นใหญ่ของขงเบ้งริมแม่น้ำแยงซีในเขตเสฉวน ฯลฯ

ภาพการเดินทางด้วยเรือโดยสารล่องแม่น้ำแยงซี และภาพริมแม่น้ำนี้ในเขตมณฑลเสฉวน ที่ผู้นำทางอธิบายว่าเป็นศิลาจารึกของขงเบ้ง (ก่อนมีการสร้างเขื่อนสามผา)

ตามที่ได้เล่าแต่ต้น เวลาเดินทางผมจะอยู่ในที่พักน้อยมาก เวลาว่างจะใช้ทัศนาจรไปเรื่อย ๆ ผมมีโอกาสได้เที่ยวประเทศสหราชอาณาจักรมากไม่แพ้สหรัฐอเมริกาที่ไปมาแทบจะทุกรัฐ รวมทั้งอลาสก้าและฮาวาย ในสมัยที่ไปเรียนและทำงาน แม้บางรัฐจะเพียงขับรถผ่านแวะทานอาหารและเติมน้ำมันก็ตาม

นอกจากนี้แล้วก็เคยท่องเที่ยวเรียนรู้หาประสบการณ์ด้วยการสะพายเป้เที่ยวคนเดียวที่ฝรั่งเศสเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และสเปน ด้วยเช่นกัน จากที่ผ่านมาบางช่วงต้องเดินทางต่างประเทศบ่อยมากจนบางทีตื่นมาต้องค่อย ๆ นึกว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน ได้ไปทั้งเมืองใหญ่ ๆ และชนบทห่างไกล เจอทั้งนักธุรกิจที่บางคนดูเหมือนทุกนาทีเร่งรัดมาก และชาวบ้านห่างไกลที่มีเวลาให้กับเราเต็มที่ เห็นวัฒนธรรมและได้ประสบการณ์สารพัดรูปแบบที่ไม่มีในห้องเรียน

ขอฝากข้อคิดเห็นไว้อีกครั้งว่า ไปอยู่ที่ใด เรียนหรือทำงานที่ไหน ก็ควรได้ท่องเที่ยวแต่ไม่ใช่ในที่อโคจร ให้รู้จักบ้านเมืองนั้น ๆ แต่ระวังอย่าเกินเลยจนเสียการเรียนหรือเสียงาน เรียนและงานต้องมาก่อน วันหนึ่งในอนาคตอาจได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ เช่น ในการออกสังคม การประกอบวิชาชีพ ฯลฯ ไม่ใช่เห็นเพียงขอบรั้วสถานที่เรียน หรือสถานที่ทำงานเท่านั้น หรืออาจกล่าวตามหัวข้อบทความนี้ได้ว่า อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย

ผมได้รับเชิญไปช่วยที่อังกฤษบ่อยครั้งในด้านการศึกษา ไม่นับงานวิชาชีพวิศวกรรมโดยตรงที่ต้องไปทำอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้นำพื้นฐานวิศวะและบริหารธุรกิจไปประยุกต์ใช้ร่วมกันด้วย เช่น ที่ Leeds University Business School (LUBS) ซึ่งมีทั้งไปบรรยายในชั้นเรียน คุยอาหารเย็น (Dinner Talk) ให้สัมภาษณ์แนวคิดลงหนังสือของมหาวิทยาลัย พูดคุยให้ข้อคิดและตอบคำถามนักศึกษาใน Executives in Residence Programme ช่วยตอบข้อซักถามของ EQUIS [European Foundation for Management Development (EFMD) Quality Improvement System] ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลของยุโรปในการพิจารณาเพื่อรับรองสถานศึกษา (Accreditation) ด้านธุรกิจและการจัดการ อันจะมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของแต่ละสถานศึกษาทางด้านนี้

Leeds University Business School ออกใบประกาศให้เป็นเกียรติ
Leeds University Business School ขอนำประวัติไปลงในหนังสือ The NETWORK Alumni Magazine
ภาพนักศึกษาที่ Leeds University Business School เข้าหารือและขอรับคำแนะนำต่าง ๆ ใน Executives in Residence Programme เช่น ข้อคิดการทำงานในอนาคตหลังจากเรียนจบ เพื่อเป็นแนวทางให้เจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จ
ทาง Leeds University Business School ขอนำไปลงในหนังสือพิมพ์รายวัน “The Times” ของอังกฤษ

มีครั้งหนึ่งที่ไปช่วยมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ แล้วเผอิญเป็นช่วง London Olympics พอดี เลยถือโอกาสเที่ยวและเข้าชมการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นโดยเลือกวันที่มีนักมวยของไทยเราขึ้นชก

ภาพบัตรเข้าชมการแข่งขันมวยสมัครเล่นใน London Olympics ที่ได้ไปดู (พอดียังเก็บไว้)

อยู่มาวันหนึ่ง ผมได้รับจดหมาย (ด้วยความประหลาดใจ) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ประเทศอังกฤษ เชิญเป็นกรรมการบอร์ดของ International Advisory Board for Executive Education ที่ Saïd Business School หรือ Oxford Business School ซึ่งก็ได้ตอบรับไป และช่วยเป็นอยู่ราว 2-3 ปี

เวลาไปประชุมที่มหาวิทยาลัย Oxford บางครั้งเขาให้เกียรติเลี้ยงอาหารค่ำเป็นกรณีพิเศษในห้องส่วนเก่าแก่่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติจะอนุรักษ์ไว้ไม่ใช้งาน เมื่อเทียบอายุแล้วจะอยู่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง (ซึ่งทรงประดิษฐ์ลายสือไทย หรือตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826) ตามประวัติพบว่าการเรียนและการสอนที่นี่เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1096 หรือ พ.ศ. 1639 บรรยากาศเหมือนในหนัง Harry Potter หรืออาจใช้ถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วย มีความรู้สึกว่าถ้าให้ไปนั่งอยู่คนเดียวในห้องนั้นตอนค่ำ ๆ คงไม่เอา

เป็นกรรมการ International Advisory Board for Executive Education ที่ Saïd Business School หรือ Oxford Business School มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

สำหรับในเมืองไทยเองนั้น ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอ.ไอ.ที.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต (ชื่อเดิมสมัยผมเข้าเรียนที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ และตั้งอยู่ที่คณะฯ คือ SEATO Graduate School of Engineering) มีช่วงเวลาหนึ่งได้ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ทั้งด้านการเงินและการบริหาร ก็ได้ไปช่วยทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารสถาบัน ช่วยกันแก้ปัญหา โดยมี . ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย (ขออนุญาตเอ่ยนาม) เพื่อนที่เรียนวิศวฯ มารุ่นเดียวกันและทุ่มเทให้กับสถาบันนี้มาก ทำหน้าที่เป็นอธิการบดี ผมเป็นอยู่ประมาณ 7 ปี (โดยขอไม่รับเงินค่าจ้างหรือเบี้ยประชุมใด ๆ) เพิ่งพ้นหน้าที่เมื่อปีที่ผ่านมานี้ ( พ.ศ. 2563) ปัจจุบันได้ไปช่วยตามคำเชิญทำหน้าที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

กล่าวให้โอวาทผู้จบการศึกษาในพิธีรับปริญญา ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอ.ไอ.ที.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารสถาบันนี้

นอกจากนี้ก็ยังได้มีการประสานความร่วมมือช่วยเหลืองานกันกับมหาวิทยาลัยในประเทศอื่น ๆ เช่นอินเดีย อาทิที่ Jawaharlal Nehru Technological University เรื่องแปลกที่ขอเล่าสนุก ๆ ก็คือ ได้รับแจ้งว่าประเพณีต้อนรับที่นี่ระดับการให้เกียรติแปรตามขนาดของพวงมาลัยดอกไม้สดที่มอบให้ (ดังในภาพประกอบ) ปรากฏว่าหนักมาก คนยืนใกล้ ๆ ต้องแอบช่วยกันประคองรับน้ำหนักไว้ด้านหลัง

ตัวอย่างภาพชวนสนุกแปลกตาจากการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ในภาพคือที่ Jawaharlal Nehru Technological University, India ได้รับแจ้งว่าประเพณีต้อนรับที่นี่ระดับการให้เกียรติแปรตามขนาดของพวงมาลัยดอกไม้สด (หนักมาก คนยืนใกล้ต้องช่วยประคองรับน้ำหนักไว้)

หลังจากที่เคยทำงานเป็นข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานและผู้บริหารของหน่วยงานทั้งภาคการศึกษาและภาคปฏิบัติวิชาชีพ ในด้านเทคนิควิศวกรรมและธุรกิจเอกชน รวมถึงงานในต่างประเทศมาแล้ว วันหนึ่งได้รับการชวนเชิญเป็นข้าราชการการเมือง ทั้งที่ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคใดทั้งสิ้น เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ โดยขอรวบรัดตัดตอน มาถึงวันหนึ่งที่ผมต้องไปรับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศ

… อ่านต่อได้ตอนที่ 5 ตอนสุดท้ายของ “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย”…


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save